‘จาตุรนต์’ ยัน โหวตนายกฯ ซ้ำได้ ลั่นแรงอย่าหักล้างเจตจำนงประชาชน
เมื่อเวลา 15.53 น. วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายในที่
ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งดำเนินการประชุมมาตั้งแต่ 09.30 น. โดยยังไม่เข้าสู่การลงมติ หรือการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 2 โดยมีการถกเถียงว่าจะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซ้ำได้หรือไม่ ว่า
วันนี้อาจจะไม่ได้พูดแม้แต่คำว่าเห็นชอบ แต่ดีใจที่จะได้ร่วมอภิปรายเรื่องสำคัญ ซึ่งอาจจะสำคัญขนาดที่จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต
นายจาตุรนต์ ระบุต่อไปว่า วันนี้เราพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี มีคนคัดค้าน ถกเถียงกัน นำไปสู่การตีความข้อบังคับที่ 151
ว่า ข้อบังคับที่ 41 ใช้บังคับกับการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ โดยการตีความที่ทำอยู่ไม่ใช่เพียงการพิจารณาข้อกฎหมาย
ทำตามหรือขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ แต่กำลังพิจารณาว่ารัฐสภาจะเคารพเจตจำนงประชาชนจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาหรือไม่
และยังอาจจะเป็นการไม่เคารพเจตนารัฐธรรมนูญถ้าไม่พิจารณากันให้ดี ก่อนย้ำว่าข้อบังคับจะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้
นี่คือหลักง่ายๆ ทั้งนี้ การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ไม่ได้อยู่ในข้อบังคับที่ 41 แต่เกี่ยวข้องกับข้อบังคับที่ 136 ซึ่งเขียนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272
และมาตรา 159 สอดคล้องทุกประการ ดังนั้น ข้อบังคับที่ 41 จะมาทำให้เกิดการขัดแย้งรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะจะคล้ายเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าบอกว่าเสนอ
ชื่อเดิมอีกไม่ได้ จะหมายความว่าเกิดมีลักษณะต้องห้ามขึ้นเพิ่ม ถ้ามีการเสนอชื่อซ้ำจะเป็นการขาดคุณสมบัติที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถ้าเป็นเช่นนี้คือการแก้รัฐธรรมนูญ
เพราะฉะนั้น การเอาข้อบังคับที่ 41 มาใช้จึงทำไม่ได้ และรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าเสนอได้กี่ครั้ง ถ้าเสนออีกไม่ได้ แล้วการเสนอบุคคลที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้
รับความเห็นชอบ สุดท้ายจะทำอย่างไร อาจจะต้องไปถึงการหานายกรัฐมนตรีคนนอก เสมือนเรากำลังส่งเสริมให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกง่ายกว่า ทั้งที่ไม่มี
คุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ถ้าใช้หลักการแบบนี้ สภาฯ อาจจะไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้เลยแม้แต่คนเดียว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่รัฐธรรมนูญจะมีเจตนารมณ์อย่างนั้น
เพราะต้องมีรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว นายจาตุรนต์ สรุปในช่วงท้ายว่า “เราไม่อาจตีความในทางที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่อาจตีความในทางที่จะเอาเสียงส่วนใหญ่ของ
รัฐสภาที่อาจจะประกอบด้วยผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นส่วนใหญ่ มาหักล้างเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกในการเลือกตั้ง มาหักล้างเจตจำนงของประชาชน
ทั่วประเทศ ที่ได้ประกาศชัดเจนแล้วในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา” ก่อนจบการอภิปรายที่เวลา 16.05 น.